ข้ามไปเนื้อหา

เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์
Head and shoulders portrait
เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ ค.ศ. 1944
เกิดจูเลียส รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์
(Julius Robert Oppenheimer)
22 เมษายน ค.ศ. 1904(1904-04-22)
นครนิวยอร์ก สหรัฐ
เสียชีวิต18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967(1967-02-18) (62 ปี)
พรินซ์ตัน นิวเจอร์ซีย์
พลเมืองสหรัฐ
ศิษย์เก่าHarvard University
University of Cambridge
University of Göttingen
มีชื่อเสียงจากNuclear weapons development
Tolman-Oppenheimer-Volkoff limit
Oppenheimer-Phillips process
Born–Oppenheimer approximation
คู่สมรสKatherine "Kitty" Puening Harrison (1940–1967; his death; 2 children)
รางวัลEnrico Fermi Award
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎี
สถาบันที่ทำงานUniversity of California, Berkeley
California Institute of Technology
Los Alamos Laboratory
Institute for Advanced Study
วิทยานิพนธ์Zur Quantentheorie kontinuierlicher Spektren[1] (1927)
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกMax Born
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกSamuel W. Alderson
David Bohm
Robert Christy
Sidney Dancoff
Stan Frankel
Willis Eugene Lamb
Harold Lewis
Philip Morrison
Melba Phillips
Hartland Snyder
George Volkoff
ลายมือชื่อ
หมายเหตุ
Brother of physicist Frank Oppenheimer

จูเลียส รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (อังกฤษ: Julius Robert Oppenheimer, 22 เมษายน ค.ศ. 1904 – 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967) นักฟิสิกส์ชาวสหรัฐผู้เป็นบิดาของระเบิดปรมาณู โดยเขาเป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามในโครงการแมนแฮตตันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2[2]

ประวัติ

[แก้]

เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เกิดวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1904 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐ ครอบครัวของเขามีฐานะดี พ่อของเขาชื่อ "ยูลิอุส ออปเพนไฮเมอร์" เป็นชาวเยอรมันที่ได้อพยพมาที่สหรัฐ และประกอบอาชีพทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า ในวัยเด็กเขาเป็นคนขี้อาย จึงมักถูกเพื่อนรังแกอยู่เสมอ ดังนั้นเขาจึงชอบปลีกตัวอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว[2]

ชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย

[แก้]

เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเมื่ออายุ 21 ปี จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมี Percy Williams Bridgman (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1955) เป็นครูสอน และอีก 2 ปีต่อมา เขาสำเร็จการศึกษาในระดับดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน ในประเทศเยอรมัน โดยมีมัคส์ บอร์น (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1954) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์[2]

ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัย

[แก้]
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

2 ปีต่อมา เขาเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์สังกัดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียแห่งละ 6 เดือน ตลอดชีวิตการศึกษา และทำงานเขาได้ร่วมงานกับนักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงหลายคน ได้แก่ Percy Bridgman, Max Born, Paul Ehrenfest, Hans Kramers, Wolfgang Pauli และ Robert Andrews Millikan ด้วย

ต่อมาเขาได้สมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในระดับปริญญาเอก แต่เขาถูกปฏิเสธจาก Ernest Rutherford เขาจึงตัดสินใจวิจัยด้านฟิสิกส์เชิงทฤษฎีแทน โดยเน้นการใช้กลศาสตร์ควอนตัม ศึกษาธรรมชาติของนิวเคลียสในอะตอม[2]

โครงการแมนแฮตตัน

[แก้]

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2486 - 2488 เขาได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยและมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามในโครงการแมนแฮตตันที่บริเวณลอสอาลาโมส รัฐนิวเม็กซิโก[2]

เลือกสถานที่

[แก้]
ลอสอาลาโมส รัฐนิวเม็กซิโก

นายพลโกรฟส์เสนอกับเขาว่า "การศึกษาปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวกับการออกแบบ และการสร้างระเบิดปรมาณูจะต้องทำในสถานที่ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากเมืองหรือหมู่บ้านใดๆ จะต้องลึกลับมากกว่าสถานที่สำหรับผลิตพลูโตเนียมและยูเรเนียม 235" เขาจึงได้เสนอสถานที่แห่งหนึ่งแก่ออปเพนไฮเมอร์ นั่นคือที่ดินทางตอนเหนือของรัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 7200 ฟุต ในบริเวณนั้นมีโรงเรียนเล็กสำหรับเด็กโรงเรียนหนึ่ง บริเวณนี้อยู่บนที่สูงที่เรียกว่า “เมซา" (mesa) ซึ่งมีลักษณะคล้ายภูเขาที่สูงชันแต่มียอดราบป้านเป็นบริเวณกว้าง ที่นี่มีบ้านทำด้วยไม้บ้าง ด้วยหินบ้าง มีเพียงสิบกว่าหลังที่ครูใช้อาศัยอยู่ อาคารเรียนมีเพียง 2-3 หลังเท่านั้น ไกลออกไปทางทิศตะวันตกมีเนินเขาเจเมสซึ่งดูเขียวชอุ่มล้อมรอบเมซาอีกลูกหนึ่งทางทิศตะวันออก พื้นดินดูคล้ายกับหยุดอยู่แค่นั้นเพราะเป็นเขตปลายสุดของที่ราบเมซา ลึกลงไปเบื้องล่างเป็นทะเลทรายที่กว้างยาวเหยียดออกไปสุดลูกหูลูกตา ดูเป็นทิศทัศน์ที่ว่างเปล่าเต็มไปด้วยทราย มีหญ้าแห้งปกคลุมอยู่เป็นหย่อมๆ มองไกลออกไปข้างหน้าจะเห็นแถบสีเขียวที่โค้งวกวนไปมาตามแนวแม่น้ำริโอ แกรนด์ นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านที่เก่าแก่อยู่เป็นหย่อมๆ ในแถบสีเขียวนี้มีถนนแคบๆ ไต่ขึ้นไปตามขอบภูเขาเพื่อใช้เป็นเส้นทางติดต่อจากหมู่บ้านในหุบเขาริโอแกรนด์ไปยังโรงเรียนบนเมซา เมืองที่ใกล้ที่สุดคือ แซนตาเฟ (Santa Fe) อยู่ไกลออกไปประมาณ 40 ไมล์ ที่นี่ไกลจากทางรถไฟถึง 60 ไมล์ ดังนั้นโรงเรียนลอสอาลาโมส (Los Alamos) นี้อยู่เปล่าเปลี่ยวและโดดเดี่ยวเหมาะแก่การเลือกเป็นสถานที่สำหรับโครงการแมนแฮตตันที่สุด[3]

เริ่มการก่อสร้าง

[แก้]
บ้านพักและห้องทดลองบริเวณ
ลอสอาลาโมส โครงการแมนแฮตตัน

พฤศจิกายน ค.ศ. 1942 โครงการเข้าซื้อที่ดินของโรงเรียนนี้ และให้ทหารช่างหน่วยก่อสร้างเริ่มสร้างบ้านพักและห้องทดลองในบริเวณนั้นทันที ในการสร้างห้องทดลอง ผู้ก่อสร้างได้ทำตามคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีบ่อยครั้งที่ไม่มีความกระจ่างชัดเพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่กล้าให้เหตุผลว่าอาคารนั้นๆ สร้างเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพราะจะต้องปกปิดเป็นความลับ เมื่อวิศวกรสร้างตึกแล้วเสร็จนักวิทยาศาสตร์ต้องการตึกใหม่อีก และนี่คือสาเหตุให้เมืองที่ลึกลับที่สุดของเมืองเริ่มขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว

นักวิทยาศาสตร์จากเมืองของสหรัฐและอังกฤษได้เดินทางไปอยู่ในเมืองใหม่นี้ และหายตัวไปจากโลกภายนอกเป็นเวลา 2 ปีครึ่งที่เมืองนี้โดยไม่ปรากฏในแผนที่ สถานที่นี้จึงดูคล้ายไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐนิวเม็กซิโก และประชาชนที่อาศัยอยู่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง สำหรับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เมืองนี้จะไม่มีอยู่ในโลกเลย แต่สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในสถานที่นี้รู้จักในนามของ "ลอสอาลาโมส" สำหรับเพื่อนและครอบครัวของนักวิทยาศาสตร์เขียนดหมายติดต่อมาได้ที่ตู้ ป.ณ. ที่ 1663 เมืองซานตาเฟ

ตึกทุกหลังในลอสอาลาโมสทาด้วยสีเขียวเพื่อให้กลมกลืนกับหญ้าและต้นไม้ในบริเวณนั้น ในเวลากลางคืนไม่มีแสงไฟตามถนน ดังนั้นเครื่องบินข้าศึกจะค้นหาเมืองลึกลับนี้ยากมาก

รั้วลวดหนามที่ล้อมบริเวณลอสอาลาโมสมีไว้เพื่อกั้นคนภายนอกไม่ให้เข้า และกั้นคนภายในไม่ให้ออก แต่เด็กส่วนมากทราบว่ามีรูโหว่ที่รั้วที่ใดบ้าง และบางครั้งก็บอกบิดามารดาให้เข้าออกทางนั้น นอกรั้วชั้นแรกมีรั้วชั้นที่สอง เท่าที่ทราบไม่มีรูโหว่เลย เมืองนี้มีประตูใหญ่ 2 ประตู ประตูทางตะวันตกมุ่งไปสู่เนินเขาเจเมส (Jemes) และประตูทางตะวันออกหันสู่ถนนที่เริ่มจากยอดที่ราบสูงคดเคี้ยวไปมาลงไปสู่ทะเลทรายและหุบเขาริโอแกรนด์ (Rio Grande) ประตูทั้งสองมียามเฝ้าอย่างแข็งแรง แม้แต่เด็กก็ไม่สามารถเข้าหรือออกจากลอสอาลาโมสได้โดยปราศจากการแสดงบัตรผ่านที่อนุญาตให้เข้าและออกบริเวณต่อยามเฝ้าประตูก่อน จึงนับเป็นการเล่นสำคัญอันหนึ่งของเด็กที่จะซ่อนตัวอยู่ต่ำๆ ในรถที่ผ่านประตูและพยายามเข้ามาอีกโดยไม่ต้องแสดงบัตรผ่าน[4]

การคุ้มกันอย่างเข้มงวด

[แก้]

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ซึ่งรับผิดชอบต่อการป้องกันความลับของลอสอาลาโมส จะเปิดไปรษณียภัณฑ์ทุกอย่างอ่านเพื่อให้แน่ใจว่าคนในลอสอาลาโมสจะไม่เขียนถึงสิ่งที่ลึกลับนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นักฟิสิกส์ผู้หนึ่งซึ่งชอบเล่นตลกได้เขียนจดหมายโดยใช้รหัสพิเศษของเขาเกี่ยวกับการส่งข่าวความลับและก็ได้ส่งคำอธิบายรหัสแก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย มีเรื่องเล่าว่าบางครั้งนักฟิสิกส์คนนี้เขียนเป็นภาษาจีน ด้วยเหตุนี้ต่อมาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ประกาศว่าคนในลอสอาลาโมสจะต้องเขียนจดหมายด้วยภาษาที่รู้จักกันดี เช่น อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และอิตาลีเท่านั้น

เวลาทำงานที่นี่เริ่ม 8 โมงเช้า เมื่อทุกคนมาพร้อมกันที่ประตูทางเข้าแล้วแสดงบัตรผ่านต่อยามประตู ทุกคนจะติดบัตรผ่านที่เสื้อของเขา นักวิทยาศาสตร์ใช้บัตรสีขาว ส่วนคนงานอื่นๆ ใช้บัตรสีน้ำเงิน บัตรผ่านสีน้ำเงินแสดงว่าผู้ที่ติดจะไม่ได้รับการบอกเล่าถึงสิ่งที่ลึกลับเลย

ในปลายฤดูร้อนปี ค.ศ. 1944 นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐและจากประเทศต่างๆ ได้มาอาศัยรวมกันในเมืองที่มีการเฝ้ายามกันอย่างแน่นหนา ภายใต้การปกครองที่เป็นระเบียบแบบแผน ภายหลังเมื่อสงครามสงบลงแล้ว มีรายงานเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าของงานวิทยาศาสตร์ว่าด้วยอะตอมระหว่างสงครามเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า "ตอนปลายปี ค.ศ. 1944 เมืองลอสอาลาโมสเต็มไปด้วยดาราทางวิทยาศาสตร์"

ในกลุ่มดาราทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้มีหลายคนที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ชัด ทุกคนดูเหมือนจะอยู่ในสภาพที่ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้มีบุคคลที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว เช่น เอ็นริโก เฟอร์มี, เอมิลิโอ เซอเกร, เฮอร์เบิร์ท แอนเดอร์สัน และรอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ เป็นต้น

เจ.รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ หรือที่เพื่อนๆ เรียกเขาว่าออพพี (Oppie) เป็นผู้อำนวยการการวิจัยที่ลอสอาลาโมส และเป็นผู้นำของการทำงานด้วย เขาจะเดินวนไปมาระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และโดยวิธีการอันเงียบๆนี้ เขามักชอบพูดในเชิงถามซึ่งดูคล้ายๆ กับไม่ได้ตั้งปัญหาถาม พยายามเรียนรู้เกี่ยวกับงานทั้งหมด จากการทำความสนิทสนมกับทุกคนและจากความสนใจในความเป็นอยู่ทุกสิ่งทุกอย่างนี่เองที่ทำให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะทำดีที่สุด ความสำเร็จส่วนมากก็เพราะวิธีการของออปเพนไฮเมอร์นี้เอง

ทั้งเฟอร์มีและออพพีมาถึงลอสอาลาโมสโดยมีผู้คุ้มกันส่วนตัวอย่างดี หลังจากที่นายพลโกรฟส์ได้รับคำสั่งให้เป็นหัวหน้าโครงการแมนแฮนตัน ดิสทริกส์เพียงไม่นาน เขาได้ส่งผู้คุ้มกันไปประจำตัวนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงประมาณ 6 คน ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในหลายวิธีที่เขาจะป้องกันนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำทางด้านพลังงานอะตอม ผู้คุ้มกันจะติดตามนักวิทยาศาสตร์ไปทุกหนทุกแห่งเมื่ออยู่นอกลอสอาลาโมส โดยเฉพาะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ให้นักวิทยาศาสตร์เดินทางคนเดียวหรือเดินคนเดียวในเวลากลางคืน ในลอสอาลาโมส เมืองที่มีการคุ้มกันอย่างแข็งแรง เฟอร์มีและออพพีสามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมีผู้คุ้มกัน แต่เมื่อเขาเดินทางไปที่อื่นผู้คุ้มกันจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง[5]

บุคคลในโครงการแมนแฮตตัน

[แก้]
เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ และทีมนักวิทยาศาสตร์ ค.ศ. 1946 ซึ่งประกอบไปด้วย Norris Bradbury, John Manley, Enrico Fermi, J.M.B. Kellogg, Richard Feynman, Oliver Haywood และ Edward Teller

ในขณะนั้นเมื่อมีใครเอ่ยถึงเขา ทุกคนจะนึกถึงชายวัย 38 ปี ผู้เป็นหัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนแฮตตัน ที่ได้รวบรวมนักฟิสิกส์ นักเคมี และวิศวกรระดับสุดยอดนับ 6,000 คน มาสร้างระเบิดปรมาณู เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยให้มาทำงานร่วมกันที่ลอสอาลาโมสในรัฐนิวเม็กซิโก อย่างลับสุดยอด คือ ไม่ให้ฝ่ายเยอรมนีรู้อย่างเด็ดขาด ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังสร้างระเบิดมหาประลัย และให้กองทัพนักวิทยาศาสตร์ทำงานร่วมกับกองทัพทหารอย่างใกล้ชิด อย่างหนัก และอย่างรวดเร็ว และทุกคนก็ประจักษ์ว่าเขาคือ บุคคลเดียวเท่านั้นที่สามารถประคับประคองและประสานความแตกต่างระหว่างความคิดเห็น อย่างเสรีของบรรดานักการเมืองและนักวิชาการกับความลับของทหารได้ เช่น เวลา ฮันส์ เบเทอ (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1967) ขัดแย้งกับเออร์เนสต์ ลอว์เรนซ์ (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1939) และEdward Teller (บิดาของระเบิดไฮโดรเจน) เขาต้องเก่งพอที่จะตัดสินได้ว่า เทคนิคใดเหมาะสม และเป็นไปได้ หรือเวลาประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมนขัดแย้งกับ J. Edgar Hoover แห่งเอฟบีไอ และนายพล Leslie Groves ผู้เป็นหัวหน้าโครงการแมนแฮตตัน เขาต้องถูกมะรุมมะตุ้มด้วยกระสุนวาจาจากบุคคลเหล่านี้ตลอดเวลาทำงาน และเขาก็ตระหนักว่า ถึงจะเป็นนักวิชาการที่เก่ง แต่อำนาจทางการเมืองก็เหนือกว่า ฉะนั้นเมื่อใดที่ทั้งสองข้างปะทะกัน นักวิชาการก็ต้องถอย[6]

การทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรก

[แก้]
การทดลองระเบิดปรมาณูที่ทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945

ในที่สุด เมื่อถึงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1945 เวลา 05.30 น. ระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลกก็ระเบิดที่กลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโกห่างจากลอสอาลาโมสไปทางใต้เกือบ 200 ไมล์ เพื่อทดสอบว่าระเบิดปรมาณูจะระเบิดจริงตามทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์หรือไม่ และทันทีที่เห็นควันรูปดอกเห็ดขนาดใหญ่ปรากฏขึ้น พบว่าระเบิดมีพลังมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์หวังไว้มาก นอกจากนั้นมีแสงสว่างจ้าเกิดขึ้นด้วย สว่างจนเด็กหญิงตาบอดที่อยู่ห่างหลายไมล์เห็นแสงระเบิดได้ในลอสอาลาโมส ผู้ที่ยังไม่หลับรู้ว่ามีแสงสว่างอันแปลกประหลาดนี้เกิดขึ้น

หลังการทดลองนายทหารชั้นนายพลผู้หนึ่งได้เขียนรายงานถึงกระทรวงกลาโหม (War Department) อธิบายถึงการระเบิดโดยเริ่มว่า "เริ่มแรกของการระเบิดเมืองทั้งหมดสว่างจ้าด้วยแสงสว่างกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงหลายเท่า แสงนี้มีสีทอง ม่วง และน้ำเงิน สอดส่องและแทรกไปทั่วทุกหุบเขาและซอกเขาต่างๆ จนดูสว่างไสวงดงามอย่างที่บรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ ต่อจากนั้นประมาณ 30 วินาทีแรงอัดอากาศก็เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและทันทีทันใด ติดตามด้วยเสียงหนักแน่นติดต่อกัน ขณะเดียวกันนั้นกลุ่มเมฆใหญ่มหึมาก็ลอยขึ้นสู่เบื้องบน การระเบิดทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ตรงจุดระเบิด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งไมล์ ทรายตามผิวหลุมหลอมละลาย และเมื่อทรายแข็งตัวอีกหลุมนั้นก็ถูกฉาบด้วยแผ่นแก้ว"[7]

เขาผู้ชอบอ่านกวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตก็ได้เอ่ยคำอุทานจากวรรณคดีภควัทคีตาว่า “ I have become Death the shatterer off worlds.” จากนั้นไม่นาน James Frank (รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ค.ศ. 1925) และ Leo Szilard (ผู้ให้กำนิดความคิดเรื่อง fission) ได้เสนอให้เขาจัดงานแสดงการระเบิดของระเบิดปรมาณูให้โลกดูเพื่อขู่ให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม แต่เขาตัดสินใจให้ทิ้งระเบิดปรมาณูลงที่เมืองในญี่ปุ่นแทน หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังทำงานกับ AEC ในฐานะที่ปรึกษา และในปี ค.ศ. 1948 เขาได้รับการยกย่องขึ้นหน้าปกนิตยสาร Time อีกด้วย[6]

การทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ

[แก้]
สภาพหลังจากทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมะ (ถ่ายโดยนักบิน) ค.ศ. 1945
ภาพการทิ้งระเบิดที่นางาซากิ ค.ศ. 1945
ซากศาลาประชาคมในเมืองฮิโรชิมะ ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานเตือนใจถึงการทิ้งระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2
ซุ้มประตูในเมืองนางาซากิ ที่ได้รับความเสียหายจากทิ้งระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังการทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรกไม่นาน ได้มีการใช้ระเบิดปรมาณูอย่างจริงจังในสงคราม ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 สงครามกับเยอรมันได้สิ้นสุดลง ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ถึงแก่กรรมในเดือนเมษายน และประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมนดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแทน โดยทรูแมนต้องการชัยชนะอย่างรวดเร็ว จึงตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงที่เมืองฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และในอีก 2-3 วันต่อมา ระเบิดปรมาณูลูกที่สองถูกทิ้งลงที่เมืองนางาซากิ ภายหลังการระเบิดของระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการ สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงสิ้นสุดลง สหรัฐและฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเป็นฝ่ายชนะ[7]

ข่าวญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้มาถึงลอสอาลาโมสในเวลาค่ำวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แม้จะดึกมากแล้ว แต่การฉลองชัยก็กระจายออกไปทั้งไซต์-วาย คิสเตียคาวสกีผู้เชี่ยวชาญวัตถุระเบิด กดปุ่มจุดระเบิดยิงปืนใหญ่ที่เรียงรายอยู่รอบลอสอาลาโมสที่เขาโยงสายชนวนมารวมกันไว้จุดเดียว พวกนักวิทยาศาสตร์ตะโกนเชียร์ให้กับพลุไฟของคิสเตียคาวสกีและดื่มให้กับสันติภาพ

เมื่อการฉลองผ่านไป เหล่านักวิทยาศาสตร์เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ สงสัยว่าพวกเขาทำถูกหรือไม่ที่สร้างลูกระเบิดอะตอมขึ้นมา ความเร่งด่วนของโครงการแมนแฮตตันหมดลงแล้ว นักวิทยาศาสตร์ค่อยๆ ทยอยจากไปทีละคนสองคน เดือนตุลาคมปีนั้นเองเขาก็ออกไปอยู่ที่วอชิงตัน ส่วนแฟร์มีและเทลเลอร์กลับไปที่ชิคาโก ในที่สุดแม้แต่กองทัพก็ถอนตัวออกไป โกรฟส์ยกเลิกมณฑลทหารช่างแมนแฮตตันเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1947 กฎหมายฉบับใหม่แปลงโครงการนี้เป็นของพลเรือนในชื่อว่า คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณู (Atomic Energy Commission หรือ AEC)

บทสรุปของโครงการแมนแฮตตันจบลงที่คำแถลงบางตอนของแฮร์รี เอส. ทรูแมน ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ว่า “......เมื่อ 16 ชั่วโมงก่อน เครื่องบินของอเมริกันลำหนึ่งได้ทิ้งลูกระเบิดที่เมืองฮิโรชิมะซึ่งเป็นฐานทัพสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ลูกระเบิดนี้มีพลังมากกว่า ทีเอ็นที 20,000 ตัน รุนแรงกว่าลูกระเบิดที่รุนแรงที่สุดที่ชื่อว่าแกรนด์สแลมของอังกฤษถึง 2,000 เท่า....มันคือลูกระเบิดอะตอม.....เราได้ใช้จ่ายไปเป็นเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ในการเดินพันทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์และเราชนะพนัน”[8]

ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติ

[แก้]
Institute for Advanced Study ที่พรินซ์ตัน

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1947 เขาเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของ Institute for Advanced Study ที่พรินซ์ตัน ซึ่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เป็นพนักงานประจำและเป็นที่ปรึกษาของสำนักงานพลังงานปรมาณูแห่งชาติ (Atomic Energy Commission : AEC)[2]

ถูกปลดออกจากราชการ

[แก้]
ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (ซ้าย) และ Lewis Strauss (ขวา)

ค.ศ. 1949 รัสเซียประสบความสำเร็จในการสร้างระเบิดปรมาณู และโลกเข้าสู่ภาวะสงครามเย็น บรรดานักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐหลายคน เช่น Lewis Strauss ประธานของ AEC และ Edward Teller มีความเห็นพ้องกันว่า สหรัฐต้องสร้างระเบิดไฮโดรเจนที่มีพลังในการทำลายมากกว่าระเบิดปรมาณูหลายพันเท่า แต่เขาไม่เห็นด้วย ความขัดแย้งนี้ทำให้เขามีศัตรูเพิ่มขึ้นหลายคน และเขาถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า เป็นคอมมิวนิสต์ เพราะน้องชายของเขา Frank Friedman Oppenheimer และภรรยาของเขา Kitty Puenina เป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ และเขาเคยถูกดักฟังโทรศัพท์ทั้งที่บ้าน และที่ทำงาน โดย FBI และ CIA อีกด้วย

นอกจากนี้จากประวัติของเขาของตั้งแต่ปี ค.ศ. 1942 พบว่าเขาเป็นคนที่เห็นอกเห็นใจพวกคอมมิวนิสต์ และรัสเซียก็ได้เคยส่งสายลับมาหา ซึ่งขณะนั้นเขากำลังทำงานในโครงการแมนแฮตตัน แต่เขาไม่เคยรายงานกับตำรวจอเมริกันเลยว่า เขาได้สนทนากับสายลับรัสเซีย เมื่อถูกคาดคั้นโดยนายพล Leslie Groves ให้บอกชื่อสายลับ และถ้าไม่บอก เขาต้องลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ในโครงการแมนแฮตตัน เมื่อถูกรุกฆาตเขาจึงบอกชื่อคนที่มาพบว่าชื่อ Haakon Chevalier ผู้เป็นศาสตราจารย์ภาษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ซึ่งได้รู้จักกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 การเปิดเผยชื่อทำให้ Chevalier ล่มจม เพราะถูกสอบสวนและตกงาน แต่เขาเป็นไท และได้ทำงานต่อจนสหรัฐมีระเบิดปรมาณูในครอบครอง

เมื่อมีประวัติด่างพร้อยเช่นนี้ และมีศัตรูทั้งทางทหารและทางวิชาการจำนวนมาก ในปี ค.ศ. 1954 เขาจึงถูกปลดออกจากราชการในข้อหาเป็นบุคคลอันตรายที่ไม่เหมาะสมจะเป็นข้าราชการทำงานป้องกันประเทศอีกต่อไป โดยประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์

ชีวิตบั้นปลายและเสียชีวิต

[แก้]
Saint John, U.S. Virgin Islands

เขาใช้ชีวิตบั้นปลายที่ Saint John, U.S. Virgin Islands กับครอบครัว แล่นเรือใบ และดื่มค็อกเทล

ก่อนเสียชีวิตเขาล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ เพราะสูบบุหรี่จัด และเสียชีวิตในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 โดยได้กล่าวก่อนสิ้นใจว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกผิดที่ทำให้โลกมีระเบิดปรมาณู แต่ไม่เสียใจ”[6][9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ at the Mathematics Genealogy Project
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 บทความเรื่อง J. Robert Oppenheimer : บิดาของระเบิดปรมาณูตอนแรกโดยสุทัศน์ ยกส้าน จากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย] สืบค้นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557
  3. ข้อมูลสถานที่ตั้งโครงการแมนแฮตตันตามคำแนะนำของนายพลโกรฟส์ จากเว็บไซต์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เก็บถาวร 2012-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557
  4. ข้อมูลการก่อสร้างอาคารโครงการแมนแฮตตัน จากเว็บไซต์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เก็บถาวร 2012-08-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557
  5. ข้อมูลการคุ้มกันโครงการแมนแฮตตัน จากเว็บไซต์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เก็บถาวร 2012-08-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557
  6. 6.0 6.1 6.2 บทความเรื่อง J. Robert Oppenheimer : บิดาของระเบิดปรมาณูตอนจบโดยสุทัศน์ ยกส้าน จากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557
  7. 7.0 7.1 การทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรก จากเว็บไซต์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เก็บถาวร 2012-08-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557
  8. บทสรุปของโครงการแมนแฮตตัน จากเว็บไซต์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เก็บถาวร 2015-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557
  9. ชีวประวัติเจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ จากเว็บไซต์ myfirstbrain.com สืบค้นวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]